บูด เน่า เฉา เสีย

ทำไมอาหารจึงบูด เน่า เฉา เสีย
        ธรรมชาติของอาหารเกือบทุกชนิด เมื่อเก็บไว้นานๆ ย่อมเปลี่ยนสภาพ จากของสดใหม่กลายเป็นเน่าเสีย นั่นก็เพราะฝีมือของจุลินทรีย์ในอากาศที่รายล้อมตัวเรามากมาย ทั้งในรูปของแบคทีเรีย ยีสต์ หรือเชื้อรา เมื่อใดที่จุลินทรีย์เหล่านี้ปะปนลงไปในอาหาร นั่นหมายความว่ากระบวนการเน่าเสียได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว 
        หลังจากจุลินทรีย์ใช้อาหารของเราเป็นที่อยู่อาศัย เจริญเติบโต แพร่พันธุ์ ไปจนถึงการขับถ่าย โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นส่วนสำคัญให้อาหารเปลี่ยนสภาพ ไม่ว่าจะเป็นสี กลิ่น หรือรสชาติเปลี่ยนไป เช่น ขนมปังขึ้นราจะมีจุดสีดำหรือเขียวเป็นหย่อมๆ เนื้อสัตว์ที่เน่าจะมีสีซีดพร้อมกลิ่นเหม็น ข้าวบูดจะมีน้ำเยิ้มและส่งกลิ่นเหม็นเปรี้ยวไม่พึงประสงค์ เป็นต้น เพราะการเน่าเสียเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก กระบวนการถนอมอาหารจึงเกิดขึ้น ทั้งการใช้ความร้อน ความเย็น ความเค็มของเกลือ การฉายรังสี หรือแม้แต่สารเคมีสังเคราะห์ที่เรียกกันทั่วไปว่าสารกันบูดนั่นเอง

สารกันบูดในเมืองไทยมีอะไรบ้าง
        สารกันบูดตามประกาศกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อนุญาตให้ใช้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ.2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

   1. กลุ่มของกรดอ่อนและเกลือของกรดอ่อน (acid and its salts) นิยมใช้กันมากในระดับอุตสาหกรรม เพราะมีความเป็นพิษน้อยและละลายน้ำได้ดี สารกันบูดในกลุ่มของกรดอ่อน ได้แก่ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก กรดโปรปิโอนิก ที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ กรดฟอร์มิก และกรดอะซีติก ที่ให้ความเปรี้ยว ส่วนเกลือของกรดอ่อน ได้แก่ โซเดียมซอร์เบต โพแทสเซียมซอร์เบต โซเดียมเบนโซเอต โพแทสเซียมเบนโซเอท และโซเดียมอะซีเตท ซึ่งมีประสิทธิภาพดี ในอาหารที่มีความเป็นกรดสูง หรือมีค่า pH ต่ำ อนุญาตให้ใส่ในอาหารหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง รวมทั้งเครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม
    2. กลุ่มของไนเตรตและไนไตรท์ (nitrate and nitrite) นอกจากคุณสมบัติเป็นสารกันบูดแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นสารตรึงสีหรือเรียกง่ายๆ ว่าดินประสิว เช่น โซเดียมไนเตรต โซเดียมไนไตรท์ อนุญาตให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักต่างๆ เช่น แฮม ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง เบคอน หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักที่ผ่านกรรมวิธีบรรจุกระป๋อง 
    3. กลุ่มของซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์( sulfites and sulfur dioxide) เป็นสารที่ใช้ป้องกันการเกิดสีน้ำตาลอันเป็นผลจากอาหารทำปฏิกิริยากับ ออกซิเจนในอากาศ โดยซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือสารฟอกสี อนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์พืชผักผลไม้ชนิดแห้งและแช่อิ่ม ไวน์ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ส่วนกลุ่มของสารประกอบซัลไฟต์ อนุญาตให้ใช้ในพืชผักผลไม้แห้งและแช่อิ่ม ได้แก่ โซเดียมซัลไฟต์ โซเดียมไบซัลไฟต์ โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ และแคลเซียมไบซัลไฟต์ 

    4. กลุ่มอื่นๆ ที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ เช่น ไนซิน ที่ใส่ในชีสบางชนิด โพรพิลพาราเบน เมทิลพาราเบน เอทิลพาราเบน ที่ใช้เฉพาะในแยมและเยลลี่ ไพมาริซิน ใช้เฉพาะที่ผิวของเนยแข็ง และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมักเกลือที่ผ่านหรือไม่ผ่านความร้อน

อาหารชนิดใดที่เต็มไปด้วยสารกันบูด
        อาหารที่มักมีสารกันบูดเพื่อยืดอายุการบริโภค ได้แก่ อาหารที่มีปริมาณน้ำอิสระ (water activity) สูง เช่น ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไม่ว่าจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยเฉพาะเส้นสด เช่น เส้นเล็กและเส้นใหญ่ ขนมจีน วุ้นเส้น ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่บางชนิด ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ทั้งลูกชิ้น หมูยอ ไส้กรอก ผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้ เช่น ผักผลไม้ดอง พริกแกง เครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น
        หากจะกล่าวว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดทั้งชนิดสด แห้ง หรือบรรจุกระป๋อง ล้วนผ่านกระบวนการป้องกัน หรือชะลอการเน่าเสียมาแล้วทั้งสิ้นก็ย่อมได้ แต่ใช่ว่าหมูยอทุกยี่ห้อจะมีสารกันบูด ไม่ได้หมายความว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวทุกเจ้าจะปนเปื้อนสารเคมี หรือแม้แต่อาหารทุกกระป๋องก็ไม่ได้มีวัตถุกันเสีย เพราะในผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีขั้นตอนการผลิต ฆ่าเชื้อและบรรจุภัณฑ์สะอาดได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภคก็ไม่จำเป็นต้อง ใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุอาหารแต่อย่างใด

อันตรายจากสารกันบูด 
        สารกันบูดแต่ละชนิดที่อนุญาตให้ใส่ในอาหารมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เนื่องจากผ่านการทดสอบทางด้านพิษวิทยาและการประเมินความปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าอาหารที่คุณซื้อใส่สารกันบูดในปริมาณที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับชนิดอาหาร แม้สารกันบูดบางชนิดจะระเหยได้เมื่อผ่านความร้อน แต่การบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายขับออกไม่ทัน กลายเป็นสารพิษตกค้างสะสมและนำมาซึ่งความเจ็บป่วยได้

      พิษเฉียบพลัน คือ กรณีที่ได้รับสารกันบูดปริมาณมากเข้าสู่ร่างกาย เช่น การได้รับกรดเบนโซอิกจากเส้นก๋วยเตี๋ยวในปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะได้ หรือการบริโภคอาหารที่มีปริมาณไนเตรตไนไตรท์สูงมาก อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงช็อกเฉียบพลัน (methemoglobin) คือ โมเลกุลของฮีมหรือสารสีแดงในเม็ดเลือดไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้ ทำให้ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ จนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติได้ในที่สุด อาการนี้จะอันตรายมากหากเกิดในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะซีดหรือมีโรคเลือด
      พิษกึ่งเรื้อรังและพิษเรื้อรัง เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดในปริมาณไม่สูงสะสมต่อเนื่องเป็นเวลา นาน ตามปกติหากได้รับสารกันบูดในปริมาณไม่สูง ร่างกายสามารถขับออกเองได้ แต่ถ้าได้รับทีละน้อยแต่ยาวนานอาจก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง นอกจากนี้วัตถุกันเสียบางชนิด เช่น กลุ่มของไนเตรตไนไตรต์ สามารถทำปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนและเอไมด์ในเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาใน สภาวะที่มีความเป็นกรดเหมาะสม เช่น ภายในกระเพาะอาหาร ก่อให้เกิดสารประกอบไนโตรโซ ซึ่งหลายชนิดจัดเป็นสารก่อมะเร็ง 

แนวทางรับมือสารกันบูดในอาหาร
          ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธสารกันบูด อีกทั้งการจะตรวจดูว่าอาหารที่ซื้อมานั้นมีสารกันบูดหรือไม่คงต้องส่งตรวจใน ห้องแล็ปเพียงอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรให้ร่างกายได้รับอันตรายจากสารกันบูดน้อยที่สุด ลองดูคำแนะนำดีๆ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลกันค่ะ
      1. เลือกซื้ออาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ และมีฉลาก ระบุผู้ผลิต สถานที่ผลิตชัดเจน ระบุวันผลิต และวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ มีเครื่องหมายและเลขสารบบอาหารของ อย.
      2. เลือกซื้ออาหารกับแหล่งจำหน่ายที่มีระบบการตรวจสอบสินค้าที่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดจำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ได้แก่ หมูยอ ลูกชิ้น ควรเลือกซื้อกับผู้จำหน่ายที่มีการใช้ความเย็นในการควบคุมอุณหภูมิสินค้าขณะ จำหน่าย
      3. บริโภคอาหารหลายชนิดหมุนเวียนกันไป เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารพิษตกค้าง เพราะร่างกายคนเรามีกลไกขับสารพิษทางระบบขับถ่าย หากได้รับสารพิษในปริมาณไม่มากและไม่บ่อย
      4. รับประทานผักผลไม้สดเป็นประจำ นอกจากใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย วิตามินบางชนิดและสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติยังทำปฏิกิริยาต้านการเกิด มะเร็งได้ด้วย
      5. หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารพร้อมบริโภคบรรจุกล่องที่ไม่ได้ขายหมดวันต่อวัน เพราะอาหารเหล่านี้หากไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิทหรือเก็บในที่รักษาอุณหภูมิ อาจบอกได้ว่ามีสารกันบูดเจือปนในปริมาณมาก
      6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีสดเกินไป เช่น เนื้อสัตว์สีแดงสด เพราะสีสันน่ากินเหล่านั้นล้วนมาจากสารตรึงสีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
      7. ปรุงอาหารสดใหม่รับประทานเอง หากเป็นไปได้ควรทำอาหารกินเองบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงมีความสด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

Health & Cuisine